จิ้งหรีดนอกจากเป็นแหล่งรวมโปรตีนแล้วยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้เป็นกอบเป็นกำ เป็นอาชีพเสริมอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และความต้องการบริโภคจิ้งหรีดที่สูงขึ้นทุกวัน เมื่อเทียบกับราคาเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น และด้วยลักษณะ การเลี้ยง จิ้งหรีด ที่ไม่ได้ซับซ้อนยุ่งยาก สามารถใช้วัสดุอุปกรณ์ที่สามารถหาได้ตามท้องถิ่นบ้านเราในการทำโรงเรือนเพาะเลี้ยง ทำให้ต้นทุนในการเลี้ยง จิ้งหรีด จึงไม่สูงมากด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นสัตว์ที่สามารถพบได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตร้อน ทางตอนบนของประเทศไทยหรือภาคอีสานพบมากที่สุด โดยมักจะอาศัยตามท้องทุ่งนาและจะกัดกินต้นอ่อนของพืช ใบพืชต่างๆ เฉพาะส่วนที่อ่อนๆ เป็นอาหาร เพราะนอกจากจะปลอดสารพิษแล้วยังมีโปรตีนสูงอีกด้วย จิ้งหรีดมีมากในช่วงฤดูร้อน ปัจจุบันจิ้งหรีดตามธรรมชาตินั้นเริ่มลดปริมาณลงทุกวัน เนื่องจากการใช้สารเคมีในนาข้าว จนทำให้เกิดเป็นธุรกิจใหม่คือการหันมาเลี้ยงจิ้งหรีดนั่นเอง จิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีประสาทสัมผัสที่ไวกับสารเคมีและยาฆ่าแมลงเป็นอย่างมาก ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องระมัดระวังหากมีการใช้สารเคมีในบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้จิ้งหรีดตายได้
“การเลี้ยง จิ้งหรีด เลี้ยงอย่างไรให้ได้ผลกำไรสูง”
การเลี้ยงจิ้งหรีดนั้นเริ่มมีมาอย่างช้านานแล้ว โดยใช้วิธีการเลี้ยงที่เรียนแบบธรรมชาติ จนปัจจุบันเกษตรกรสามารถนำมาเลี้ยงในโรงเรือนได้แล้ว โดยให้อาหารสำเร็จรูปหรือรำข้าวในการเลี้ยง จิ้งหรีดเป็นสัตว์ตารวม หนวดยาวคู่ และมีขาหลังคู่ขนาดใหญ่แข็งแรงเพศเมียจะมีอวัยวะวางไข่ยาวแหลมคล้ายเข็มยื่นออกมาจากส่วนท้อง เพศผู้มีปีกคู่หน้าย่นสามารถทำเสียงได้ จิ้งหรีดนั้นมีหลายชนิดหลายขนาดแตกต่างกันไปตามพฤติกรรมลักษณะพิเศษของจิ้งหรีด แตกต่างจากแมลงชนิดอื่นอย่างโดดเด่นและสังเกตได้ง่ายคือ การส่งเสียงร้องและการผสมพันธุ์ที่เพศเมียจะคร่อมบนเพศผู้เสมอ ฤดูหนาว จิ้งหรีดจะขยายพันธุ์ได้ช้า แต่หากมีการจัดการที่ดี ก็จะสามารถมีจิ้งหรีดไว้บริโภคหรือจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี
ชนิดของจิ้งหรีดที่พบได้ในประเทศไทย ที่เป็นที่รู้จักกันมีทั้งหมด มี 5 ชนิด

- จิ้งหรีดทองดำหรือ จิ้งหรีดดำ ลำตัวกว้างโดยประมาณ 0.60 ซม. ยาวประมาณ 2.5- 3 ซม. ในธรรมชาติมี 3 สี คือ สีดำ สีทอง สีอำพัน โดยจะมีจุดสีเหลืองที่โคนปีกด้านบน 2 จุด



- จิ้งหรีดทองแดง ลำตัวกว้างประมาณ 0.60 ซม. ยาวประมาณ 3 ซม. มีลำตัวมีสีน้ำตาลล้วน โดยตัวผู้มีสีเข้มกว่าตัวเมีย มีความว่องไวมาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกจิ้งหรีดนี้เป็นภาษาถิ่นว่า จิหน่าย จิ้งหรีดม้า เป็นต้น



- จิ้งหรีดเล็ก เป็นชนิดที่มีขนาดเล็กที่สุดในบบรดาจิ้งที่เลี้ยงทั้งหมด โดยลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ บางท้องที่เรียกว่า จิหล่อ จิลอดผี หรือ สะดิ้ง เป็นต้น



- จิ้งโก่ง เป็นจิ้งหรีดขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาจิ้งหรีดที่พบได้ในประเทศไทย มีสีน้ำตาล ลำตัวกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 3.50 ซม.โดยจะขุดดินหรือสร้างรังอาศัยใต้ดินลึก และจะออกมาส่งเสียงร้องในเวลากลางคืน และพฤติกรรมชอบอพยพย้ายที่อยู่เสมอ มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามท้องที่ จิโปม จิ้งกุ่ง เป็นต้น



- จิ้งหรีดทองแดงลาย มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีปีกครี่งตัว และชนิดที่มีปีกยาวเต็มตัวเหมือนจิ้งหรีดทั่วไป ตัวเต็มวัยสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวกว้างประมาณ 0.50 ซม. ยาวประมาณ 2 ซม. ตัวเต็มวัยเหมือนพันธุ์ทองแดงแต่เล็กกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง
ถึงแม้ว่าจิ้งหรีดจะมีหลายชนิดแต่ที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงมากที่สุดคือ จิ้งหรีดทองแดง จิ้งหรีดทองแดงลาย และจิ้งหรีดดำ เพราะลักษณะนิสัยและ กินอาหารเก่ง โตไว ไม่ชอบบิน จึงเป็นที่นิยมมากที่สุดเพราะดูแลง่ายโตและขยายพันธุ์ได้เร็วและยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย โดยไข่ มี สีขาวนวล ลักษณะเรียวยาวคล้ายเม็ดข้าวสาร ไข่เมื่อฟักนาน ๆ จะมีสีเหลืองและดำ ก่อนจะฟักออกเป็นตัวอ่อน ใช้เวลาประมาณ 13 -14 วัน ถ้าเป็นฤดูหนาวจะใช้เวลายาวนานกว่าประมาณ 20 วัน ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ ๆจะมีสีครีมหลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ จากนั้นจะมีการลอกคราบ 7 ครั้ง ระยะตัวอ่อนประมาณ 40 วัน ตัวเต็มวัยอายุ 40 วันขึ้นไปจะมีสีน้ำตาลเข้ม เพศเมีย ปีกคู่หน้าเรียบ และมีอวัยวะวางไข่ยาวแหลม คล้ายเข็มยาวประมาณ 1.50 ซม. ปกติปีกจะทับกันเหนือลำตัว เพศผู้ปีกขวาจะทับปีกซ้าย ส่วนเพศเมียปีกซ้ายจะทับปีกขวา
ลักษณะการผสมพันธุ์
เมื่อลอกคราบเป็นตัวเต็ววัยแล้วประมาณ 3-4 วัน จิ้งหรีดก็จะเริ่มผสมพันธุ์ ตัวผู้จะส่งเสียงเรียกหาตัวเมีย เพื่อให้ตัวเมียเข้ามาอยู่ใกล้ ๆ จิ้งหรีดจะอาศัยเสียงร้องเท่านั้น จึงจะเห็นเพศตรงข้าม เนื่องจากไม่สามารถมองเห็นได้และ หนวดรับการสัมผัสไม่ค่อยดี จะสังเกตได้ เมื่อตัวเมียเกาะอยู่นิ่ง ๆ ตัวผุ้จะเดินผ่านไปทั้ง ๆ ตัวเมียอยู่ใกล้ เมื่อพบตัวเมียแล้วเสียงร้องจะเบาลงเป็นจังหวะสั้น ๆ เพื่อให้ตัวเมียขึ้นคร่อมรับการผสมพันธุ์ ใช้เวลาประมาณ10 – 15 นาที โดยตัวผู้จะยื่นอวัยวะเพศแทงไปที่อวัยวะเพศเมียแล้วปล่อยถุงน้ำเชื้อมีลักษณะปลายเป็นลูกศรออกไปติดที่อวัยวะเพศเมีย หลังจากนั้น ถุงนำเชื้อจะฝ่อลง ตัวเมียจะใช้ขาเขี่ยถุงน้ำเชื้อทิ้งไป
การวางไข่ของ จิ้งหรีด
หลังการผสมพันธุ์แล้ว 3- 4 วัน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่โดยเกษตรกรจะต้องเตรียมภาชนะสำหรับการวางไข่ของจิ้งหรีด โดยใช้ภาชนะ เช่น ขันน้ำพลาสติก ถ้วย เป็นต้น จากนั้นทำการผสมดินกับมูลวัวแห้งในปริมาณที่เท่ากัน เพื่อทำให้ดินร่วนซุย หรืออาจใช้แกลบดำบดละเอียดก็ได้เช่นกันรดน้ำให้ชุ่ม นำไปบรรจุลงในขันพลาสติกจนเต็มนำไปวางไว้ในโรงเรือนสำหรับเป็นที่วางไข่ของจิ้งหรีด จากนั้นจิ้งหรีดตัวเมียจะแทงท่อวางไข่ลงไปในดินเพื่อวางไข่และวางไข่เป็นกลุ่ม ๆ ละ3 – 4 ฟอง ตัวเมีย 1 ตัว จะวางไข่ได้ประมาณ 1,000 – 1,200 ฟอง ปริมาณไข่สูงสุดช่วงวันที่ 15 -16 นับจากการผสมพันธุ์ จากนั้นไข่จะลดลงเรื่อย ๆ หลังจากที่จิ้งหรีดวางไข่แล้วเกษตรกรจำเป็นต้องย้ายภาชนะที่วางไข่ออกทุกๆ 4-6 วัน แล้วเปลี่ยนภาชนะวางไข่อันใหม่ลงไปแทน เพื่อให้ได้ตัวอ่อนที่อยู่ในวัยเดียวกัน โดยนำไปไว้โรงเรือนใหม่เพื่อรอการฟักตัว ใน 1 บ่อ สามารถวางภาชนะวางไข่ได้ 2-3 ครั้ง
วัสดุ อุปกรณ์สำหรับการเตรียมโรงเรือน การเลี้ยง จิ้งหรีด
- บ่อหรือโรงเรือนจิ้งหรีด สามารถใช้วัสดุที่หาได้ตามท้องถิ่นมาเป็นสถานที่เพาะเลี้ยง เช่น บ่อซีเมนต์ กะละมัง ปิ๊ป โอ่ง ถังน้ำ หรืออาจใช้ไม้ไผ่มาประกอบเป็นโรงเรือน เป็นต้น
- เทปกาวใช้ติดบริเวณรอบบ่อด้านในเพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดปีนออกจากบ่อ เทปกาวที่ใช้ควรมีขนาดกว้างไม่ต่ำกว่า 5 ซม.
- ตาข่ายไนล่อนสีเขียวเป็นตาข่ายสำหรับปิดปากบ่อจิ้งหรีดป้องกันการบินหนีของจิ้งหรีดและป้องกันศัตรูเข้าที่จะมาทำลายจิ้งหรีดตัดให้มีขนาดใหญ่กว่าบ่อจิ้งหรีดเล็กน้อย
- วัสดุรองพื้นบ่อ ใช้แกลบใหม่ๆ รองพื้นหนาประมาณ 3 นิ้ว
- ที่หลบภัยและยังใช้เป็นที่หลบซ่อนตัว อาศัยของจิ้งหรีด เช่น ถาดไข่ชนิดที่เป็นกระดาษ ไม้ไผ่ตัดเป็นท่อนๆ เข่งปลาทู หรือ เศษกระเบื้อง เป็นต้น
- ถาดให้อาหาร ควรเป็นถาดที่ไม่ลึกมาก เพื่อให้จิ้งหรีดได้กินอาหารได้สะดวก อาจใช้ฝาปิดถังพลาสติก หรือ ฝาถังสี เป็นต้น
- ภาชนะให้น้ำ สามารถใช้ที่ให้น้ำสำหรับลูกไก่เลยเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ในการรักษาความสะอาด แต่ต้องใช้หินวางไว้สำหรับให้จิ้งหรีดเกาะได้เพื่อกันไม่ให้จิ้งหรีดตกน้ำ
- ถาดสำหรับใช้เป็นที่วางไข่โดยใช้ขันอาบน้ำทั่ว ๆ ไป วัสดุที่ใส่ ใช้ขี้เถ้าแกลบดำ รดน้ำให้ชุ่มพอประมาณแต่ห้ามแฉะจนเกินไป ในส่วนนี้จะเตรียมไว้เมื่อจิ้งหรีดเริ่มโตเต็มวัยแล้ว
การจัดใน การเลี้ยง จิ้งหรีด ก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก
- สถานที่เลี้ยง จะต้องป้องกันแสงแดดและฝนได้ อากาศถ่ายเทได้สะดวก เช่น โรงเรือนเลี้ยง ใต้ถุนบ้าน ชายคาบ้าน เป็นต้น
- การให้น้ำควรหมั่นดูขวดที่ใส่น้ำถ้าแห้งให้เติมใหม่ ถ้าสกปรกควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด การให้พืชผักต่างๆ เช่นต้นกล้วย พืชตระกลูแตงต่างๆ ก็สามารถให้แทนน้ำได้เช่นกัน โดยจิ้งหรีดจะดูดกินน้ำได้
- อาหารของจิ้งหรีดหาได้ตามธรรมชาติทั่วไป ผักชนิดต่างๆ เช่น ผักกาด กะหล่ำ หญ้า มะละกอ ผักบุ้ง อาจให้อาหารเสริมเช่น ใช้อาหารไก่เล็ก ผสมกับรำอ่อน อัตรา 1: 1 เมื่อจิ้งหรีดอายุ 40-50 วัน พร้อมที่จะนำมาบริโภคและจำหน่ายต่อไป
- หลังจากจำหน่ายจิ้งหรีดแล้ว เกษตรกรสามารถทำความสะอาดโรงเรือนเพื่อเตรียมเลี้ยงในทุนต่อๆไปได้เลย โดยการเปลี่ยนแกลบรองพื้นใหม่ ล้างถาดให้น้ำให้อาหาร ถาดไข่กระดาษสามารถนำไปตากแดดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้เช่นกัน เพื่อประหยัดต้นทุนในการเลี้ยงครั้งต่อไป จิ้งหรีดเป็นแมลงที่ไม่ค่อยมีโรคและศัตรูมากนัก ถ้าหากเราปกปิดมิดชิด มด จิ้งจก แมงมุม ก็จะไม่สามารถเข้ามาทำลายจิ้งหรีดของเราได้