ในยุคโควิดแบบนี้ ทำให้หลายคนต้องตกงานกลับอีสานบ้านเฮา และคงไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าบ้านเราอีกแล้ว พอกลับบ้านมาก็ต้องหาหนทางในการสร้างรายได้เพื่อใช้จ่ายในครอบครัว และหนึ่งในนั้นก็คือการเลี้ยงกบที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำกันเลยทีเดียว บางคนอาจทำเป็นอาชีพหลักดีกว่าการทำนาเสียด้วยซ้ำ การเลี้ยงกบไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป สำหรับเกษตรกรสมัยใหม่นิยมเลี้ยงโดยการใช้กระชังบกแทนการเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งง่ายต่อการดูแลรักษาโรคและช่วยลดต้นทุนอีกด้วย เพราะกระชังบกสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ติดตั้งง่ายราคาไม่แพงและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย การเลี้ยงอย่างไรให้ได้คุณภาพดี มีน้ำหนักตัวอวบอ้วน วันนี้เรามีวิธี การเลี้ยง กบ ในกระชังบก มาฝากกัน
“เลี้ยงกบสำหรับมือใหม่ไม่ได้ยากอย่างที่คิด”
อันดับแรกคือการคัดเลือกสายพันธุ์ใน การเลี้ยงกบ ในกระชังบก
สายพันธุ์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญของการเลี้ยงกบเพราะว่าเราต้องเลี้ยงให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ หากเราจำแนกออกตามสายพันธุ์หลักๆที่เลี้ยงเพื่อบริโภคจะมี 2 สายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกัน
ลักษณะทั่วไปของกบนาคือสีเทาดำ ตามลำตัวจะมีจุดสีดำ ใต้ท้องสีขาว โตเต็มวัยขนาดประมาณ 5 นิ้ว กบอายุ 3 เดือนจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 7-8 ต่อกิโลกรัม โดยทั่วไปของกบตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย ในธรรมชาติหาได้ยากแล้ว เนื่องมีการใช้สารเคมีในนาข้าวทำให้มีจำนวนลดลง จึงเป็นที่นิยมในท้องตลาด
2. กบจาน (Rana Rugulosa Wiegmann)
กบจานจะมีสีเทา, น้ำตาล, เหลืองแตกต่างกันออกไป ลักษณะลำตัวจะมีผิวเรียบกว่ากบนา ส่วนท้องสีขาวนวล ตัวโตเต็มวัยประมาณ 5-6 นิ้ว เป็นที่นิยมสำหรับเกษตรกรเพราะเนื้อเยอะ ให้น้ำหนักดีกว่ากบนา เมื่อกบอายุ 3 เดือนจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 3-5 ตัวต่อกิโลกรัม
ขนาดของลูกกบที่ใช้เลี้ยงต้องมีอายุประมาณ 26-30 วัน เฉลี่ยตัวละประมาณ 0.8 – 1.5 บาท ซึ่งวิธีนี้จะง่ายต่อเกษตรกรมือใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องอนุบาลลูกกบเอง เพราะช่วงแรกเกิดการดูแลจะค่อนข้างยุ่งยากจึงแนะนำให้ใช้ลูกกบอายุประมาณ 26-30 วันเพราะมีอัตราการรอดตายสูง
เมื่อเลือกสายพันธุ์ที่ต้อง การเลี้ยงกบ ในกระชังบก ได้แล้วเราก็จะต้องมาเตรียมพื้นที่และกระชังบกในการเลี้ยงกันเลย
พื้นที่ที่จะใช้เลี้ยงควรมีการปรับเกลี่ยหน้าดินให้เรียบเพื่อให้ง่ายต่อการระบายน้ำในการทำความสะอาดกระชัง อาจจะต้องมีการขุดคลองระบายน้ำเล็กๆเพื่อให้ระบายน้ำได้เร็วขึ้น ขั้นตอนต่อไปกระชังบกที่ใช้ควรมีขนาดกว้าง 3×6 เมตร(สามารถสั่งออนไลน์ได้) สำหรับกบ 4,000 ตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนที่เราต้องการจะเลี้ยงด้วยถ้าเราลี้ยงในปริมาณน้อยก็ใช้ขนาดเล็กลงตามจำนวนกบ (โดยเฉลี่ยประมาณ 250 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร) และจำเป็นต้องมีกระชังสำรองเพื่อแยกกบป่วยหรือแยกตามขนาดด้วย เพื่อลดความแออัดและ ความเครียดเมื่อกบมีขนาดโตขึ้น
และควรมีแพลอยน้ำสำหรับให้กบมีที่เกาะ ซึ่งอาจจะใช้วัสดุเหลือใช้จากโรงงานทำรองเท้าก็ได้ ราคาแผ่นละ 12 บาท (สามารถสั่งออนไลน์ได้เช่นกัน) จากนั้นเติมน้ำประมาณ 1.5 นิ้ว โดยน้ำสามารถใช้ได้ทั้งน้ำบาดาลหรือน้ำจากบ่อธรรมชาติได้เลย หลังจากปล่อยลูกกบแล้วควรมีการคัดแยกตามขนาดของลูกกบเพื่อลดการสูญเสียเนื่องจากกบจะกินอาหารได้ไม่เท่ากันขนาดก็จะแตกต่างกันออกไป ทำให้ตัวที่โตกว่ากัดตัวเล็กจึงจำเป็นต้องมีการคัดแยกทุกๆสัปดาห์ หากกระชังอยู่ในที่ล่วงควรใช้สแลนกันแดด 50% ไม่ควรเกินกว่านี้เพราะกบก็ต้องการแสงแดดเช่นกัน อีกทั้งยังป้องกันศัตรูได้เช่นกัน
อาหารที่ใช้ใน การเลี้ยง กบ ในกระชังบก จะมีขนาดแตกต่างกันออกไปตามขนาดของกบ
ส่วนประกอบหลักของอาหารกบจะประกอบไปด้วยปลาป่น กากถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองนึ่ง แป้งสาลีและข้าวโพด หรือปลายข้าว น้ำมันปลา วิตามิน เกลือแร่ ซึ่งสามารถหาชื้อได้ตามร้านขายอาหารสัตว์ทั่วไป โดยทั่วไปแล้วกบจะกินอาหารที่ลอยน้ำเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ควรโปรยอาหารไว้บนแพลอยน้ำ อาจจะมีการให้อาหารเสริมนิดหน่อยก็ได้ถ้าอยากให้กบโตเร็วขึ้น หรือไม่ใช้ก็ได้แล้วแต่สะดวก
ในระยะ1เดือนแรกขนาด 5 – 10 กรัม
กบเล็กใช้อาหารสำหรับลูกกบชนิดเม็ดลอยน้ำ(เม็ดเล็ก)โดยจะต้องมีโปรตีนมากกว่า 37% ไชมันไม่น้อยกว่า 4% เพราะเป็นช่วงที่กบจะเจริญเติบได้เร็วในช่วงนี้ให้อาหาร 2 เวลาเช้าและเย็นในปริมาณที่เหมาะสม หรือประมาณวันละ 4-6% ของน้ำหนักตัว ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไปโดยสังเกตง่ายๆหากมีเศษอาหารเหลือนั่นหมายความว่าเราต้องลดปริมาณอาหารลง แต่หากอาหารไม่เพียงพอก็อาจจะทำให้กบเริ่มกัดกันเองเพราะฉะนั้นอาหารจึงจำเป็นต้องให้อย่างพอเหมาะเท่านั้น เพราะถ้ากบกินอาหารเยอะไป อาจจะทำให้ท้องอืดหรือเกิดอาการบวมน้ำได้และจะต้องมีการเปลี่ยนน้ำเช้าและเย็นหลังให้อาหารเสร็จและจำเป็นต้องทำแบบนี้ทุกวัน เพื่อป้องกันน้ำเน่าเสียที่อาจจะทำให้เกิดเชื้อโรคได้
ระยะ 2 เดือนใช้อาหารกบกลาง ขนาด 10 – 100 กรัม
อาหารกบกลางเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำ(เม็ดกลาง)และต้องมีโปรตีนไม่น้อยกว่า 35% ไขมันไม่น้อยกว่า 4% โดยอาหารวันละ 3-5% ของน้ำหนักตัวต่อวัน อาหารยังคงต้องให้เช้าและเย็นเหมือนเดิมทุกวัน และจะต้องมีการเปลี่ยนน้ำเช้าและเย็นหลังให้อาหารเสร็จและจำเป็นต้องทำแบบนี้ทุกวัน เพื่อป้องกันน้ำเน่าเสียที่อาจจะทำให้เกิดเชื้อโรคได้
ระยะ 3 เดือนขึ้นไปขนาด 100 – 300 กรัม
สามารถใช้อาหารกบขนาดใหญ่โปรตีนไม่น้อยกว่า 30% ไขมันไม่น้อยกว่า 4% โดยเกษตรกรสามารถผสมอาหารปลาดุกเพื่อลดต้นทุนได้เช่นกันเนื่องจากมีราคาถูกกว่า อาหารยังคงให้เช้าและเย็นเหมือนเดิมทุกวัน และการเปลี่ยนถ่ายน้ำยังจำเป็นต้องทำทุกวันเหมือนเดิมเช้าเย็นหลังให้อาหาร
ยารักษาโรคใน การเลี้ยง กบ ในกระชังบก
โรคตาขาวและโรคผิวหนังเกิดจากน้ำที่ใช้อาจมีความเป็นกรดหรือด่างต่างกันตามพื้นที่ จะทำให้กบมีปัญหาโรคผิวหนังดังนั้นการใช้ด่างทับทิมจึงช่วยในการลดความเป็นกรดเป็นด่างในน้ำ ควรใช้ในปริมาณ 5 ช้อนแกง:น้ำ 10 ลิตร หลีกเลี่ยงการให้ราดโดนตัวกบโดยตรง ใช้ผสมน้ำเจือจางราดลงในบ่อโดยแช่ไว้ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วล้างออกจะช่วยแก้ปัญหาโรคผิวหนังได้ หากมีอาการรุนแรงควรแยกออกจากกันเพราะอาจจะทำให้กบตัวอื่นๆติดเชื้อได้ หลังจากแยกกบออกจากกันแล้วใช้OXY-100ชนิดผง( ราคาประมาณ 60 บาท )ผสมอาหารให้กบกินเพื่อฆ่าเชื้อโรคติดต่อกัน 1 สัปดาห์แล้วสังเกตอาการให้แน่ใจว่าหายสนิทจึงจะสามารถนำกลับไปเลี้ยงรวมได้อีกครั้ง
โรคท้องอืดหรือบวมน้ำ จะสังเกตได้จากลำตัวบวมตึง ไม่ขยับตัวและจะไม่กินอาหารเราจึงจำเป็นต้องมีบ่อพักกบเพื่องดน้ำงดอาหารจนกว่าอาการบวมน้ำจะยุบลงไปเองประมาณ 2-3 วันจึงจะสามารถนำกลับไปเลี้ยงรวมได้ เห็นไหมละว่าการเลี้ยงกบไม่ได้มีโรคเยอะแยะอย่างที่คิด แถมยาที่ใช้ในการรักษาก็ไม่แพงการรักษาก็ไม่ได้ยุ่งยากเลย
เป็นไงบ้างกับการเลี้ยงกบแบบใหม่ไม่จำเป็นต้องมีบ่อดินหรือบ่อปูนให้ยุ่งยาก แค่มีใจรักเอาใจใส่ง่ายๆใครๆก็ทำได้แถมได้กำไรงามอีกด้วยโดยราคาขายจะอยู่ที่ประมาณ 55 -120 บาท/กิโลกรัมกันเลยทีเดียว เมนูที่ทำจากกบก็ทำได้มากมายหลากหลาย เช่น ผัดเผ็ด แกงอ่อม ห่อหมก น้ำพริก เรียกได้ว่าทุกเมนูที่กล่าวมานั้นแซบๆ ไม่แพ้กันเลยทีเดียว ตลาดออนไลน์ช่วงโควิดนี้กบกำลังไปได้สวยเลยทีเดียว เพราะสามารถติดต่อพ่อค้าผ่านเฟซบุ๊กและมารับกันถึงหน้าบ้านเลย ง่ายแบบนี้แล้วคงต้องลองกันสักตั้งแล้วหละครับ